สนช.พิจารณา กม.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ ผ่านฉลุย

รูปการประชุมสภาผู้แทน

เมื่อวัน2 ก.ย. 59  มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ. 2524 เนื่องจากปัจจุบันผู้นับถือศาสนาอิสลามให้ความสนใจเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เป็นจำนวนมากจึงได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่มีหน่วยงานราชการในภูมิภาคสามารถใกล้ชิดประชาชนในทุกพื้นที่ ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการฮัจญ์แทนกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ และให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คนจากเดิม 10 คน โดยเพิ่มปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมทั้งให้คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ฯ ตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจการฮัจญ์ไม่เกิน 7 คนเพื่อทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางและมาตรการเพื่อคุ้มครองอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์

จากนั้นได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สนช.อภิปรายว่าไม่ติดใจที่ กมธ.ได้แก้ไขเพิ่มปลัดวัฒนธรรมเป็นกรรมการ เพราะมีความเกี่ยวข้อง แต่ที่มีความกังวลในเรื่องของการตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมฯ ที่กำหนดให้มีผู้ประกอบการเกี่ยวกับกิจการฮัจญ์มาเป็นคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลประโยชน์ทับซ้อนกับการนำประชาชนไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า คนที่จะมาเป็นคณะอนุกรรมการฯ จะต้องมีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์เกี่ยวกับกิจการฮัจญ์มีหน้าที่เพียงเสนอแนะ เสนอมาตรการคุ้มครองแก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกมีความกังวล ทาง กมธ.ก็จะรับข้อสังเกตดังกล่าวไปเขียนไว้ท้ายร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้การตั้งอนุกรรมการฯมีความรอบคอบป้องกันไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการฯ

ภายหลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนน 161 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เพื่อประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป