สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายคัดค้านยุบ ธนาคารอิสลามฯ

วันนี้ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายได้จัดประชุมระดมควาคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่นายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลังจะยุบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงค์)ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้คัดค้านการยุบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงค์)และได้ออกแถลงการดังนี้

แถลงการณ์

เรื่อง คัดค้านการยุบเลิกธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ( ไอแบงค์ )

อนุสนธิตามหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับ วันที่ 22 กันยายน 2557 หน้าข่าวเศรษฐกิจ ลงข่าวว่า “นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เล็งยุบ ไอแบงค์ เพราะอุ้มต่อไปไม่ไหว มันมีหนี้เน่า  40,000 กว่าล้านบาท”

วันนี้พี่น้องทุกท่านต้องให้ความสนใจต่อคำกล่าวของนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ที่กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงค์) อาจจะถูกยุบเพราะข้อมูลไม่โปรง่ใส มีหนี้เสีย 4 หมื่นล้าน ในขณะที่ เอสเอ็มอีแบงค์ก็ขาดทุน
แต่จะไม่ยุบนัยว่ามีความจำเป็น ความคิดเห็นของ ท่านรมว. คนนี้ถือว่าไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะ

  1. ท่านเข้ามาบริหารประเทศมาเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหา หรือตัดปัญหาง่ายๆอย่างนี้
  2. ไม่ใช้ความผิดของธนาคารที่ชื่อว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงค์)
  3. ไม่ใช่เป็นความผิดของคนมุสลิม หรือสังคมมุสลิมไปทำให้เกิดหนี้เสีย เพราะมุสลิมไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร
  4. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยใช้นโยบายการบริหารธนาคารตามรูปแบบอิสลามซึ่งเป็นเจตนารมณ์ในการก่อตั้งธนาคาร

ทั้งหมดที่ทำให้เกิดหนี้เสียเกิดจากผู้บริหารประเทศในบางยุคสมัย แต่งตั้งคนของตนไปเป็นผู้บริหารระดับสูง เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยตรงมิใช่พัฒนาให้ธนาคารเจริญก้าวหน้า

ธนาคารไหนก็ธนาคารนั้นเมื่อมีการทุจริตขนาดใหญ่มันก็ต้องล้มเหมือน ธนาคาร B.B.C ในอดีต

การทุจริตแสวงหาประโยชน์ของผู้บริหารดังกล่าวตรวจสอบ และมีการตรวจสอบไปแล้วโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลรับผิดชอบปรากฎหลักฐานครบสมบูรณ์ สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้แต่ไม่ทำกัน ปล่อยให้ผู้กระทำผิดอยู่และโกงกินต่อจนหมดวาระ

มารัฐบาลนี้มีอำนาจเกินร้อยแถลงนโยบายจะปราบปรามการทุจริตท่านจะเอาอย่างไรกับ ไอแบงค์ ท่านจะปล่อยให้ผู้ร้ายลอยนวล หรือท่านจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง

ไอแบงค์ จะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่

ถ้ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหาไอแบงค์ ต้องดำเนินการดังนี้

  1. รัฐต้องตรวจสอบผู้กระทำผิดและที่มาแห่งการกระทำผิดจนก่อให้เกิดหนี้เสี หลักฐานมีพร้อมอยู่แล้วตามรายงานของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  2. รัฐต้องไม่ยุบธนาคารอิสลาม(ไอแบงค์)แต่ต้องปรับบุคคล การบริหารให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของธนาคารที่มีตั้งแต่แรก
  3. รัฐต้องให้ผู้ที่เข้าใจในหลักการของศาสนาอิสลามไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร เพื่อการบริหารตามระบบอิสลามที่ถูกต้อง

“ธนาคารนี้เกิดมาเพื่อตอบสนองระบบอิสลาม”

เพื่อปกป้องธนาคารให้คงอยู่ ขอเชิญพี่น้องแสดงจุดยืนให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าธนาคารนี้มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อสังคมจึงต้องอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป

สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย

องค์กรเครือข่ายปกป้องธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

26 กันยายน 2557