เลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นำรายชื่อ ขรก.100 คนพัวพันทุจริตส่งนายกรัฐมนตรี

รูปนายก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เดินทางเข้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นำส่งรายชื่อข้าราชการ 100 คน ที่พัวพันการทุจริต ส่งมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ตามที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. มอบหมาย โดยใช้เวลากว่า 15 นาที

นายประยงค์ กล่าวว่า ได้นำเอกสารและรายชื่อข้าราชการที่พัวพันเกี่ยวกับการทุจริตประมาณ 100 รายชื่อ มาส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยขั้นตอนหลังจากนี้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการต่อไป และหากมีข้อสั่งการหรือบัญชาอย่างใดตนจะรับไปดำเนินการหรือนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการเองก็ได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งรายชื่อที่ส่งให้ทั้งหมดนี้ จะเป็นการดำเนินการทางปกครอง ส่วนการดำเนินการคดีทางอาญาจะเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ขออนุญาตไม่ลงลึกรายละเอียด เนื่องจาก รมว.ยุติธรรมสั่งห้ามเอาไว้ โดยจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเอง

ส่วนเป็นข้าราชการสังกัดใดนั้น ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ ทั้งนี้ ประเทศเราข้าราชการจะมีบทบาทมากในแง่การรักษาความสงบและการพัฒนา หากมีข้าราชการไปทุจริตแล้วไม่ดำเนินการจะเกิดผลเสียหายมากกว่า ดังนั้น เมื่อภาครัฐเอาจริงเอาจังจะสามารถไปหยุดยั้งตรงนั้นได้ จากที่มากจะเหลือน้อยลง พอน้อยลงจะสามารถควบคุมปัญหาได้ แต่หากปล่อยไม่ทำอะไรเลยคนที่ทำจะได้ใจ ถึงที่สุดจะคุมปัญหาไม่ได้ หากเกี่ยวข้องกับเอกชนจะดึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้ามา และหากถึงที่สุดจริงๆ ต้องแก้กฎหมายเพื่อไปเชื่อมโยงกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังให้ได้

อย่างไรก็ตาม การทำงานในปัจจุบันจะทำงานร่วมกันในฐานะ ศอตช. ดังนั้น การสอบสวนพยายามจะลงลึกให้ถึงที่สุด พยายามจะเข้าไปถึงผู้อยู่เบื้องหลัง ถ้าเกิดไปแตะถึงผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการเช่นกัน ผิดคือผิด ถูกคือถูก ไม่กังวลว่าใครเป็นใคร