กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมนำสิ่งที่ดูงานที่เยอรมัน มาปรับใช้กับประเทศไทย

รูปกรรมาธิการร่าง รธน ให้สัมภาส

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากการเดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมันว่า  ทุกฝ่ายที่เดินทางไปด้วยกัน ทั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเข้าใจในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมากขึ้น  ทั้งนี้ พบว่า หลักการจัดการเลือกตั้งของเยอรมัน ให้กระทรวงมหาดไทยดูแลการเลือกตั้ง กฎหมาย และนักการเมือง  ส่วน กกต.จะกำกับกฎกติกาการเลือกตั้ง  ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาหากไทยใช้ระบบสัดส่วนผสม   โดยพร้อมจะนำมาปรับใช้ให้ระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองของไทยเข้มแข็ง ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่ยังเป็นจุดอ่อนของไทย    พร้อมกันนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ ยังได้ศึกษาการอุดหนุนพรรคการเมือง การลงคะแนน การหาเงินสนับสนุน สถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐที่จะให้ความเป็นธรรมในช่วงการเลือกตั้งอีกด้วย

พลเอกเลิศรัตน์ ยังได้กล่าวถึงสมาชิก สปช. อย่างนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์  ที่เคยมีความเห็นต่างในการเลือกตั้งแบบเยอรมัน ว่าได้มีความเข้าใจมากขึ้นและไม่ติดใจอะไร หลังได้ศึกษาดูงานครั้งนี้  ขณะที่คณะกรรมการ กกต.น่าจะมีความชัดเจนเรื่องการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเห็นต่างในบางประเด็น จึงต้องมาหารือกันอีกครั้ง โดยยืนยันว่า ยังต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รวมทั้ง สปช. ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลา 2เดือน เพื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด   อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเริ่มดำเนินการได้หลังจาก สปช.มีมติเห็นชอบในร่างแรก และคาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือนในการทำประชามติ